animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate animate

สิงห์บุรี

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี


          ถิ่นวีระชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี...นี่คือคำขวัญของ "เมืองคนจริง สิงห์บุรี" 

          คำกล่าวขานเรียกนามจังหวัดนี้ มีที่มาจากวีระกรรมของชาวบ้านบางระจันในสมัย แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2310) ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องเสียกรุงไปในที่สุด แต่กองทัพพม่าที่เดินทัพผ่านมายังบ้านบางระจัน เพื่อเข้าตีเมืองอโยธยานั้น ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะชาวบ้านบางระจันได้รวมตัวกันลุกขึ้นสู้ตามมีตามเกิด เพื่อต้านทานกองทัพอันเกรียงไกรของพม่าเอาไว้ได้นานถึง 5 เดือนเต็ม โดยที่ใช้อาวุธสุดแท้ที่จะหาได้ มี พร้า จอบ เสียม เป็นต้น และไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากทางอโยธยาเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่วีระกรรมอันสุดแสนกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันในครั้งนั้น จะยังคงเป็นที่จดจำและประทับใจลูกหลานชาวไทยตลอดไป


          สิงห์บุรี อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ลักษณะหน้าดินนั้นเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ ซึ่งมีแร่ธาตุและสารอาหารสูงซึ่ง เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก สิงห์บุรีจึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองไทย ทุกหนทุกแห่งที่เดินทางไปถึงนั้น อย่างไรเสียก็ต้องมองเห็นทุ่งข้าวเขียวขจี อยู่ในสายตาไม่มากก็น้อย 


สิงห์บุรี

          และด้วยความที่เป็นพื้นที่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองแห่งพุทธศาสนาหลาย จังหวัดสิงห์บุรีจึงมีวัดวาอารามจำนวนไม่น้อยที่น่าสนใจ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บางแห่งนั้นสวยงาม และโอบล้อมไปด้วยผืนสีทองของนาข้าวยามออกรวงสุกปลั่งเสริม ให้องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านนั้น งดงามตระการตายิ่งขึ้น

          สถานที่ท่องเที่ยวนั้นยังไม่เด่นชัดมากมายนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องอาหารการกินแล้วละก็ สิงห์บุรี ไม่เป็นที่สองรองใคร มีอาหารหลากหลายชนิดให้เลือกชิมได้ทั้งวัน โดยเฉพาะตามแหล่งตลาดเก่าแก่ต่าง ๆ เช่น ตลาดบ้านแป้ง ตลาดปากบาง ตลาดพรหมบุรี ฯลฯ นั้นเต็มไปด้วยสารพัดอาหารพื้นบ้านรสชาติเยี่ยม ที่บางอย่างก็ไม่สามารถหาทาน ที่ไหนได้ โดยเฉพาะในเมนูปลาแล้ว สิงห์บุรี พร้อมที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจได้ตลอดเวลา สังเกตได้จากการที่เมืองทั้งเมืองต่างก็ใช้สัญลักษณ์เป็น "ปลา" เพื่อยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ และรับรองเป็นเซียนปลาน้ำจืดตัวจริง

          และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ คนเมืองสิงห์สามารถพลิกแพลงนำเนื้อปลาช่อน จากลำน้ำแม่ลามาปรุงเป็น "เค้กปลาช่อน" ด้วยฝีมือของเกษราเบเกอรี่ที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก หากอยากรู้ว่ารสชาติจะเป็นเช่นไรก็ต้องลองไปชิมกันดู ขอบอกว่าคนเกลียดปลาก็ทานได้โดยที่ไม่รู้สึกอะไรเลย

สิงห์บุรี

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่...

          วัดพิกุลทอง อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหารไปประมาณ 9 กิโลเมตร เดิมชื่อว่า "วัดใหม่พิกุลทอง" แต่มักเรียกขานกันว่า "วัดใหม่" เพราะสร้างขึ้นใหม่ในเขตบริเวณนี้ สร้างเมื่อ พ.ศ.2434 โดยขุนสิทธิ์, นายกลับ สถิตย์บุตร และนายช่วง เป็นหัวหน้าดำเนินการก่อสร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2440 ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ได้ขอเปลี่ยนนามวัดเป็น "วัดพิกุลทอง" บริเวณวัดพิกุลทองแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนของตัววัดเดิม และส่วนของที่สร้างขึ้นใหม่ฝั่งตรงข้าม เป็นวัดที่มีความสวยงามด้วยศิลปกรรมและการตกแต่ง มีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น วิหารรูปหล่อหลวงพ่อแพองค์ใหญ่, วิหารพระพุฒจารย์โต, พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ, พระพุทธรูปประทานพรขนาดใหญ่ พระพุทธสุวรรณมงคลหามุนี, พระสีวลี, พระสังกัจจายนะ, วิหารคด, พระประธานในอุโบสถ, พระพิฆเนศ ภายในวัดร่มรื่น มีจุดนั่งพักผ่อนทั่วบริเวณ ด้านหน้าวัดมีตลาดของกินและของฝากหลายอย่าง ฝั่งตรงข้ามเป็นที่จอดรถและร้านบริการอาหารเครื่องดื่มมากมาย  

          ภายในบริเวณ วัดพิกุลทอง มีรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อแพองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารสวยทรงสูง เป็นวิหารและรูปหล่อที่เหล่าลูกศิษย์ร่วมกันสร้างถวายแด่หลวงพ่อ หลังจากที่องค์หลวงพ่อได้มรณภาพ ลงเมื่อปี 2542 ภายในนอกจากจะมีรูปหล่อหลวงพ่อองค์ใหญ่แล้ว ก็ยังมีการจัดแสดงรูปภาพขนาดใหญ่ของหลวงพ่อ ตั้งแต่สมัยท่านอุปสมบทเป็นสามเณร จนถึงวัยชราภาพประดับไว้ตามฝาผนังของวิหาร แต่ละรูปเรียกว่าหาดูได้ ยาก ภายในวิหารมีบริการดอกธูปเทียนในการบูชาองค์หลวงพ่อ มีประชาชนเดินทางเข้ามากราบไหว้รูปหล่อหลวงพ่อ ภายในวิหารอย่างไม่ขาดสาย

สิงห์บุรี

          ตลาดเทศบาล เริ่มต้นกันที่แหล่งวัตถุดิบอย่าง "ตลาดเทศบาล" ที่ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง ซึ่งก็สมกับที่เป็นเมืองปลาเพราะมีปลาหลากหลายชนิด ทั้งสดและแห้งวางขายกัน อยู่เกลื่อนกล่นมากมายหลายชนิด แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของผู้ที่ชื่นชอบ การรับประทานปลาน้ำจืดอย่างแท้จริง สิ่งที่ชึ้นชื่อที่สุดก็คือปลาแดดเดียว โดยเฉพาะปลาช่อนแดดเดียวนั้นคือสิ่งที่ถูกถามหามากที่สุด และก็มีวางขายอยู่มากที่สุดเช่นกัน          

          ดูโน่นส่องนี่ไปเรื่อย ๆ ก็เจอกับของประหลาดอย่าง "กุนเชียงปลา" อันที่จริงแล้ว "กุน" แปลว่า หมู ซึ่งเราก็จะคุ้นเคยกันว่ากุนเชียงนั้นทำมาจากเนื้อหมู แต่ปัจจุบันนี้ก็มีการดัดแปลงเนื้อชนิดอื่น ๆ มาทำเป็นกุนเชียงอย่าง ไก่เชียง เนื้อเชียง สำหรับที่นี่ก็เลยจัดการเอาเนื้อปลามาทำบ้าง ถึงแม้ว่าจะเรียกกันติดปากว่ากุนเชียงปลา แต่ชื่อจริง ๆ นั้นก็คือ "กวนเชียง" ปลาที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น เท่าที่เดินถามเห็นมีใช้อยู่สองชนิดก็คือ ปลานวลจันทร์และปลากราย อยากรู้ก็ต้องไปลองซื้อหามาชิม ไม่ได้มีขายที่ไหนนอกจากที่นี่        

          อีกสิ่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเมืองสิงห์บุรีก็คือขนม โดยเฉพาะ "ขนมเปี๊ย" นั้นถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยทีเดียว ในตลาดสดแห่งนี้ก็มีวางขายอยู่ดาษดื่น แต่มีอยู่เจ้าหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ "ขนมเปี๊ยโรตีนายกิมเซี้ยะ" ที่เอาขนมเปี๊ยมาปิ้งบนกระทะเหล็กร้อนฉ่า อย่าคิดว่าเป็นร้านใหญ่โต เพราะเป็นแค่มุมรถเข็นในซอกหนึ่งของตลาดเท่านั้น รสชาติกรอบมันอร่อยแปลกต่างจากขนมเปี๊ยปกติ มีสองใส้ให้เลือกซื้อ ถามคนในตลาดได้ทุกคนว่าเปี๊ยปิ้งนายกิมเซี๊ยะอยู่ตรงไหน ขนมบรรจุในกล่องสีแดงหน้าตาสวยงาม ใช้เป็นของฝากจากเมืองสิงห์ได้เลย  และจะพลาดไม่ได้กับ "ซาลาเปาแม่สายใจ" ที่ทำซาลาเปาขายมานานกว่า 40 ปี เดินออกจากตัวตลาดเลาะริมเขื่อนเจ้าพระยามาเพลิน ๆ อย่ามัวมองหาร้านที่ดูยิ่งใหญ่สะดุดตา เพราะร้านนี้เป็นแค่ห้องแถวเล็ก ๆ ที่ดูธรรมดามาก 


สิงห์บุรี

          ซึ้งนึ่งหน้าร้านส่งควันฉุยตลอดเวลา ไม่สังเกตจริงก็คงจะอดกินเพราะดูเหมือนบ้านช่องห้องหอปกติทั่วไป มีเพียงป้ายหน้าร้านที่บอกให้รู้ว่าที่นี่คือ "ซาลาเปาทูลเกล้า แม่สายใจ" เท่านั้น แต่นี่เป็นซาลาเปาในระดับ "ทูลเกล้า" ถวายให้กับเชื้อพระวงศ์และบุคคลสำคัญหลายต่อหลายครั้ง ในโอกาสที่สิงห์บุรี ต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซาลาเปามีหลายใส้เช่นเดียวกับที่ขายกันทั่วไป แต่ที่ดูอลังการก็คือ "ฮ่องเต้" เรียวขนาดใหญ่ยัดใส้ด้วยหมูสับ เห็ดหอม ฮอทดอก โบโลน่า ปูอัด กินก้อนเดียวอิ่มไปครึ่งวัน เนื้อแป้งซาลาเปานุ่มหนา แม้หมดความร้อนไปแล้วก็ยังคงความอร่อย รสชาติไม่เลี่ยนจนเกินไป สมแล้วที่เป็นอาหารรับรองบุคคลสำคัญ และที่สมกับเป็นเมืองปลาก็คือ "ซาลาเปาใส้ปลาช่อนแม่ลา" รสชาติจะเป็นแบบไหนก็ต้องหาโอกาสแวะไปชิมที่ริมเขื่อนกันดู     
   
          เดินกลับมาทางตัวตลาดอีกไม่ไกล ก็จะถึงสามแยกวัดโพธิ์แก้ว ที่นั่นมีร้านชื่อ "กวนเชียงนายอิ้ว" ต้นตำรับกวนเชียงปลาเจ้าแรก ซึ่งคิดค้นวิธีการผลิตกวนเชียงปลามาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ จนบัดนี้นายอิ้ว อายุ 74 ปีแล้ว อยากเจอผู้คิดค้นกวนเชียงปลา ก็ต้องลองแวะไปอุดหนุนกันดูที่หัวถนนขุนสรรค์ สามแยกวัดโพธิ์แก้ว ใกล้ตลาดนิดเดียวเอง


สิงห์บุรี


          ตลาดบ้านแป้ง ถ้าใครรู้จัก "วัดอัมพวัน" ตลาดบ้านแป้งก็อยู่ในบริเวณนั้นไม่ไกล อย่าเข้าใจว่าที่นี่จะเหมือนตลาดเก่าทั่วไป เพราะเมื่อแรกเข้าไปถึงก็คงจะงง ๆ ว่านี่หรือตลาดบ้านแป้ง? เพราะมีขนาดเล็กมาก จากถนนสายเอเซีย (ทางหลวงหมายเลข 32) แยกซ้ายมือเข้าซอยไปวัดกลางธนรินทร์ ผ่านโรงเรียนเข้าไปก็ถึงแล้ว ตอนผ่านเข้าวัดกลางธนรินทร์ก็จะได้พบกับ "พระบรมธาตุเจดีย์บ้านแป้ง" เจดีย์เก่าแก่ขนาดใหญ่ที่บรรจุพระธาตุเอาไว้ภายใน ช่วงวันที่ฟ้าสวย ๆ คนถ่ายภาพคงจะเก็บเจดีย์แห่งนี้ เข้ากล้องกันจนเซนเซอร์ร้อนเลยทีเดียว          

          ตลาดบ้านแป้ง เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีอาคารไม้ห้องแถวอยู่ไม่กี่ห้อง แต่เสน่ห์ของที่นี่ก็คือความเก่า และเก๋าเกมส์ของมือทำอาหารรุ่นเดอะ ที่ดังสุด ๆ ในหมู่คนรู้ก็คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านแป้ง ของคุณตาสมศักดิ์ ที่เปิดขายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 (ก่อนที่อันธพาลจะครองเมืองตั้ง 4 ปี) เอกลักษณ์ของร้านนี้ก็คือเส้นบะหมี่รูปทรงแบนที่ทางร้านทำขึ้นเอง เปิดขายมาตั้งแต่ชามละไม่กี่สิบตังค์ รสชาติอร่อยตามแบบฉบับก๋วยเตี๋ยวย้อนยุค แค่ยืนดูคุณตาอายุแปดสิบกว่า ๆ ยืนทำก๋วยเตี๋ยวอย่างคล่องแคล่วก็เพลิดเพลิน (จนคนหนุ่มอย่างเราได้อาย) ก็คุ้มแล้ว 


สิงห์บุรี

          ซอกเล็ก ๆ หลังร้านก๋วยเตี๋ยวของคุณตาสมศักดิ์ เป็นอีกร้านหนึ่งที่ใครไปเยือนแล้วต้องแวะไปอุดหนุน นั่นคือ ร้านขนมหวานของคุณลุงจำเนียร ที่ขายกันแบบอารมณ์ดี ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น หม้อแกง และอีกสารพัดขนมที่รสชาติกำลังพอดี ไม่หวานจัดจนเกินไป วางเรียงรายรอลูกค้า หากมาช้าก็มีพลาดอดชิมบางอย่าง ที่ขายดิบขายดีแน่ ๆ เอกลักษณ์ของร้านนี้ก็คือจะใช้ "ไข่เป็ด" ในการทำขนม แถมยังต้องเป็นเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติด้วย เหตุผลของลุงจำเนียรก็คือ ไข่ไก่นั้นใสเกินไป ทำขนมแล้วไม่มันอร่อยเท่าไข่เป็ด แถมไข่เป็ดฟาร์มก็อร่อยสู้ไข่เป็ดไล่ทุ่งไม่ได้อีกด้วย ใส่ใจรายละเอียดกันมาถึง 30 ปีตั้งแต่ตั้งร้าน ไม่ลองได้หรือ? 

          ฝั่งตรงกันข้ามเพียงไม่กี่ก้าว มีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นนางเอกของที่นี่ นั่นก็คือ "ขนมเบื้องญวน" ด้วยความที่เป็นของเชิดหน้าชูตาแห่ง ตลาดบ้านแป้ง ทำให้วันนี้เริ่มมีร้านคู่แข่ง ผุดขึ้นมาตั้งเคียงกับร้านเจ้าเก่าแต่ก่อนกาลอย่าง "ขนมเบื้องญวนแม่ประเสริฐ" ด้วยสโลแกนโก้เก๋อุดมมงคลว่า "กินแล้วรวย" หลังจากที่ใช้ตะหลิวพับขนมเบื้องบนเตาถ่านมาสามสิบปี วันนี้แม่ประเสริฐเริ่มส่งต่อฝีมือการปรุงขนมสีเหลืองสด ชนิดนี้ให้กับผู้สืบทอดรุ่นถัดมา แต่ตัวเองยังคงทำหน้าที่ควบคุมและต้อนรับลูกค้าอยู่ในร้าน ถึงกระนั้นก็ยังคงรสชาติเอร็ดอร่อยอยู่ดี แป้งขนมเบื้องที่ทอดจนสุกนั้นกรอบได้ที่ ใส้ในหลายอย่างให้รสเค็มปะแล่มแต่ก็มีมะพร้าวฝอยสีอิฐ มาตัดรสหวานให้กลมกล่อม ทานร่วมกับอาจาดรสออกเปรี้ยวหวานนิด ๆ แก้เลี่ยนอร่อยจนลืมโลก กินไปคุยไปถามไถ่ความหลังจากป้าประเสริฐไปด้วย บรรยากาศรอบตัวก็เปลี่ยนเป็นสมัยห้าสิบปีที่แล้วเลยทีเดียว...         

          ความเก่าแก่ของร้านนี้ยืนยันได้ด้วยตัวคุณป้าประเสริฐเอง เพราะแกกระซิบบอกกับเราว่าจบโรงเรียนประถมมาพร้อมกันกับ คุณตาสมศักดิ์ ที่ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ทางนู้นนั่นแหละ...อย่าลืมเหลือพื้นที่ให้กับขนมเบื้องญวน เป็นกำลังใจให้คุณป้าประเสริฐเขาบ้างล่ะ!


สิงห์บุรี


          อะ ๆ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ สิงห์บุรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก มีความยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร (1 เส้น 3 วา 2  ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) ลักษณะพระพักตร์ หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมี พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และพระแก้ว พระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ทั้งพระกาฬและพระแก้วสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประทานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ต้นไม้สำคัญ           

          วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดหน้าพระธาตุ สันนิษฐานว่าสถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา ทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ภายหลังมีการเสริมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเพิ่มเติมเป็นซุ้มจรนัมทั้งสี่ด้าน ตั้งแต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทรงปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478  

          ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม เป็นสถานที่เลี้ยงควายไทยเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ โดยมอบให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อไป รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของควายไทย ที่ได้ร่วมรบกับชาวบ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมบุรี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 36 กิโลเมตรที่ 130 เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน มีพระราช สุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธมโม) เป็นเจ้าอาวาส  

          วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และโดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี ภายในวัดยังมี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว ซึ่งพระครูสิหมุณี อดีตเจ้าอาวาส ได้รวบรวมตัวหนังใหญ่จากฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเอาไว้ และส่วนหนึ่งได้รับมอบหมายจากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ ผู้ที่มีความสามารถในการเชิด-พาทย์หนังใหญ่ และได้ถ่ายทอดการแสดงหนังใหญ่สืบต่อกันมา ตัวหนังใหญ่ที่ใช้แสดงแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชุด คือชุดศึกใหญ่ (ศึกทศกัณฑ์) ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลบ ชุดนาคบาศ และชุดศึกวิรุณจำบัง มีการสาธิตการแสดงหนังใหญ่

          อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลทับยา มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภออินทร์บุรีและอำเภอบางระจัน ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ คำว่า "แม่ลา" เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้น ปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกลำน้ำ และสร้างอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลาการ้อง โดยรอบ ๆ บริเวณอาคารได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

          เมืองโบราณบ้านคูเมือง (อยู่ภายในสวนรุกขชาติคูเมือง) ตั้งอยู่ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร  มีเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู ลูกปัด หินสี และเหรียญเงินมีคำจารึกว่า "ศรีทวารวดีศวรปุญยะ" แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยฟูนันจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านคูเมือง ปัจจุบันได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ มีคูน้ำโบราณล้อมรอบ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่นสวยงาม

          แต่ถ้าอยากรู้ว่า "สิงห์บุรี" จะใช่เมืองคนจริง...ถิ่นวีระชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง...สมกับคำขวัญหรือเปล่านั้น คงต้องออกไปท่องเที่ยว พิสูจน์ด้วยตาตัวเองนะจ๊ะ


สิงห์บุรี

Tip

          ชาวสิงห์บุรีเชื่อกันว่า เมื่อไปนมัสการวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร แล้วอธิษฐานปรบมือใต้ต้นสาละลังกาใหญ่ ที่ปลูกไว้กว่า 100 ต้นในบริเวณวัด หากดอกสาละร่วงลงมา คำอธิษฐานนั้นจะประสบผลดังที่หวัง

การเดินทาง

          สิงห์บุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพไปตามทางหลวงสายเอเซีย (หมายเลข 32) เป็นระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าถนนสาย 311 วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปไม่ไกลก็จะเข้าถึงตัวเมืองสิงห์บุรี เส้นทางสะดวกสบาย ผิวการจราจรกว้างขวางและอยู่ในสภาพดี หรือจะใช้เส้นทางถนนสาย 309 เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกมาจากอ่างทองก็ได้เช่นกัน แต่เส้นทางจะไม่สะดวกเท่ากับสาย 32 เท่าไหร่นัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น